ปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิศวกรรมต่อเรือและเครื่องกลเรือ) – ตามรอยพระยุคลบาท สรรพศิลปศาสตราธิราช

ปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิศวกรรมต่อเรือและเครื่องกลเรือ)

p-2545

ebook-2545

btn2545
คำประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ

พ.ศ. ๒๕๔๕  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ

ขอพระราชทานกราบทูล ทราบฝ่าพระบาท

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยในงานช่างไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพระราชกิจด้านอื่น เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ได้ทรงประดิษฐ์เรือหลวงศรีอยุธยาจำลองด้วยฝีพระหัตถ์เอง เรือหลวงศรีอยุธยานี้ รัฐบาลไทยได้จัดเป็นเรือพระที่นั่งถวายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในคราวเสด็จนิวัติพระนคร เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๑

          พระราชกรณียกิจในด้านการช่างนั้น เป็นที่ประจักษ์เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป พุทธศักราช ๒๕๐๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทอดพระเนตรกิจการต่อเรือยนต์รักษาฝั่งที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และทรงมีพระดำริว่า กองทัพเรือควรจะได้ต่อเรือประเภทนี้ไว้ใช้เอง ทั้งนี้ เนื่องด้วยเรือยนต์รักษาฝั่ง มีความสำคัญในการป้องกันและรักษาอธิปไตยของชาติทางทะเล จึงมีพระราชปรารภให้กรมอู่ทหารเรือต่อเรือยนต์รักษาฝั่ง ต.๙๑ ขึ้น เพื่อไว้ใช้ในราชการกองทัพเรือเป็นครั้งแรก ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางกระดูกงูเรือ ต.๙๑ เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๐ เมื่อการต่อเรือเสร็จสิ้น ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทดลอง และตรวจสอบสมรรถนะของเรือด้วยพระองค์เอง และได้พระราชทานข้อคิดเห็นและคำแนะนำต่างๆ จนทำให้การต่อเรือสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีทุกประการ

          นับแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา กองทัพเรือได้มีโครงการต่อเรือชุดนี้เรื่อยมาจนปัจจุบัน มีจำนวนทั้งสิ้น ๙ ลำ ลำล่าสุด คือ เรือ ต.๙๙ กองทัพเรือจัดสร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงพระเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ วันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐ การที่กองทัพเรือมีขีดความสามารถในการต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งไว้ใช้ในราชการเองได้นั้น เป็นผลสืบเนื่องจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชดำริให้กองทัพเรือต่อเรือประเภทนี้มาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๑๐

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดกีฬาแล่นเรือใบเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังได้ทรงต่อเรือใบประเภทต่างๆด้วยพระองค์เองอีกด้วย เช่น ทรงต่อเรือใบประเภทเอนเตอร์ไพรส์ลำแรก ด้วยฝีพระหัตถ์เอง พระราชทานชื่อว่า “ราชปะแตน” ทรงต่อเรือใบประเภท โอ เค ลำแรก ชื่อ “นวฤกษ์” เรือใบลำนี้ เป็นลำเดียวกับที่ทรงใช้ในการแข่งขันกีฬาเรือใบประเภท โอ เค ในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ ๔ และได้รับรางวัลชนะเลิศ

          สำหรับพระราชกรณียกิจในด้านการต่อเรือและซ่อมเรือนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๒๔ ณ บริเวณพื้นที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ นอกจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่ออู่เรือแห่งใหม่ของกองทัพเรือ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพื้นที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรีว่า “อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช” ซึ่งเป็นอู่ต่อเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

          ด้วยพระปรีชาสามารถ และพระราชกรณียกิจอันเกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรมการต่อเรือของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดังที่พรรณนามานี้ ก่อให้เกิดการวางรากฐานและการพัฒนาส่งเสริมกิจการต่อเรือภายในประเทศให้กับหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งในส่วนของการจัดการศึกษาด้านวิศวกรรมการต่อเรือและเครื่องกลเรือที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เองด้วย อันก่อประโยชน์ยิ่งต่อความก้าวหน้าทางวิชาการต่อเรือของประเทศ สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในคราวประชุมครั้งที่ ๕/๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๕ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นสมควรของพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิศวกรรมต่อเรือและเครื่องกลเรือ แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเฉลิมพระเกียรติในพระปรีชาสามารถให้เป็นที่ประจักษ์ และเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สืบไป

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

line