คำประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
พ.ศ. ๒๕๔๒ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเป็นอเนกประการที่บังเกิดผลดีต่อสภาพชีวิตของเหล่าพสกนิกรทั้งมวล ทรงสนพระราชหฤทัยในการ พัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของอาณาประชาราษฏร์อย่างทั่วถึงเสมอ โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคมนั้น เป็นที่ประจักษ์ไปทั่วทิศานุทิศ ทรงเป็น “กษัตริย์นักพัฒนา” ทรงพระปรีชาสามารถยิ่งในการใช้หลักวิชาการพัฒนาสังคมในเชิง สหวิทยาการ นับตั้งแต่การวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาด้วยสายพระเนตรที่กว้างไกลอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพของชุมชน ทั้งชุมชนเมืองและชุมชนชนบท โดยการรวบรวม ประมวล และวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้ทราบถึงพลวัตรของชุมชนอย่างครบถ้วน ทุกแง่มุม ทั้งสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม การใช้ทรัพยากร การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีพระอัจฉริยภาพเป็นเลิศในด้านการบริหารจัดการโครงการพัฒนาอีกด้วย
โครงการบรรเทาปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครตามแนวพระราชดำริ เป็นตัวอย่างหนึ่งของโครงการพัฒนาสังคม เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนเมือง ที่มีการนำหลักวิชาการพัฒนาสังคมมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมและถ้วนทั่ว โดยได้ พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับเทคนิคและกระบวนการต่าง ๆ ในการกำหนดและจัดเตรียมรายละเอียดของโครงการ การ จัดองค์กรและระบบงาน การจัดทำแผนปฏิบัติการ การบริหารการเงินและงบประมาณ การบริหารงานบุคคล การควบคุมติดตาม และประเมินผลการดำเนินงาน การจัดทำระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาจราจร วิธีการและมาตรการที่จะอำนวยให้สามารถ นำแผนและโครงการไปปฏิบัติอย่างได้ผลที่เป็นรูปธรรม การวิเคราะห์พื้นที่เป้าหมาย การจัดทำแผนงานโครงการ การประสาน แผนในระดับต่าง ๆ ทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ และการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในการจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อ การวางแผนและการบริหารโครงการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเป็นเอตทัคคะในทุกสาขาวิชาการที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนาสังคม ซึ่งส่งผลให้ทรงสามารถ ผสมผสานความรู้ที่หลากหลายมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินโครงการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน การจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่งทั่วประเทศ เป็นตัวอย่างของโครงการพัฒนาสังคมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ชนบท ที่นำหลักวิชาการพัฒนาสังคมมาประยุกต์ใช้อย่างได้ผลและครบถ้วน แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในเรื่องนี้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ในการดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนา ทรงเน้นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ในเบื้องต้น จึงต้องดำเนินการจูงใจและปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ทรงตระหนักถึงการพัฒนาคน ก่อนการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาทั้งปวง มีพระราชดำริอันทรงคุณค่ายิ่ง ซึ่งมีใจความว่า “โครงการต่าง ๆ นั้น ต้องสามารถแก้ไข ปัญหาเฉพาะหน้า ที่ราษฎรกำลังประสบอยู่อย่างรีบด่วนและมีผลในระยะยาว โดยที่การพัฒนานั้นต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอน ความจำเป็น และประหยัด ผู้ที่ได้รับประโยชน์ คือ ประชาชนต้องสามารถ พึ่งตนเองได้ ในที่สุด” ในการพัฒนาสังคมจำเป็นต้องมี ตัวอย่างของความสำเร็จ เป็นอีกประการหนึ่งที่ทรงเน้นให้เห็นความสำคัญที่จะต้องดำเนินการให้เกิดขึ้นในแต่ละศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของพสกนิกร พร้อมกับพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม พสกนิกรทุกหมู่เหล่า ทั้งในชุมชนชนบทและชุมชนเมือง จึงได้รับประโยชน์ เป็นอเนกอนันต์ตลอดมาจากโครงการพัฒนาสังคมอันเนื่องมาจากพระราชดำริซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น ๒,๔๐๐ โครงการ ได้แก่ โครง การพัฒนาแหล่งน้ำและการชลประทาน โครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาการเกษตร โครงการพัฒนาสงเคราะห์และ ส่งเสริมอาชีพ โครงการพัฒนาสวัสดิการสังคม โครงการพัฒนาการคมนาคมและการสื่อสาร โครงการพัฒนาการสาธารณสุข โครงการพัฒนาการศึกษาและการวิจัย และโครงการต่าง ๆ ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหลาย เป็นต้น
พระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาสังคม ที่ได้ทรงบำเพ็ญด้วยพระราชวิริยะอุตสาหะอย่างไม่ลดละดังที่ได้ยกมาเป็นตัวอย่างใน เบื้องต้น ยังผลให้เกิดประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อความอยู่เย็นเป็นสุขของอาณาประชาราษฎร์ทั่วพระราชอาณาจักร อีกทั้งยังเป็น ประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาความรู้และความก้าวหน้าทางวิชาการในสาขาวิชาพัฒนาสังคมอีกด้วย สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการประชุมครั้งที่ ๗/๒๕๔๒ เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเห็นสมควรขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพัฒนาสังคม แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เพื่อเป็นราชสดุดีเฉลิม พระเกียรติให้เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกัน และเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และวงวิชาการพัฒนาสังคมสืบไป