ปริญญาศิลปศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ภาษาศาสตร์ประยุกต์) – ตามรอยพระยุคลบาท สรรพศิลปศาสตราธิราช

ปริญญาศิลปศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ภาษาศาสตร์ประยุกต์)

p-2542-9

ebook-42

btn2542-5
คำประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
พ.ศ. ๒๕๔๒ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยะในด้านภาษาศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะด้านภาษาศาสตร์ประยุกต์นั้น พระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยะในด้านสรวิทยา วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ อรรถศาสตร์ การเรียบเรียง การแปล และภาษาศาสตร์เชิงสังคม ปรากฏอย่างเด่นชัดกระแสพระราชดำรัสเรื่องปัญหาการใช้คำไทย ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ทรงเน้นเรื่องการออกเสียงภาษาไทยเพื่อให้บริสุทธิ์ในด้านการออกเสียง การรักษาภาษาไทยให้บริสุทธิ์ในด้านวิธีใช้ และการบัญญัติศัพท์เพื่อใช้ในภาษาไทย กระแสพระราชดำรัสในครั้งนั้น แสดงให้เห็นพระอัจฉริยภาพอันสูงส่งในทางสรวิทยา วจีวิภาค และวากยสัมพันธ์ในภาษา ซึ่งยากที่จะหาบุคคลใดเสมอเหมือนถ้อยคำ วลี หรือประโยคที่ปรากฏในพระราชปรารภในโครงการ และแนวพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานแก่พสกนิกรในวโรกาสต่าง ๆ ล้วนแต่แสดงให้เห็นพระอัจฉริยภาพทางอรรถศาสตร์ กล่าวคือ ทรงสามารถเลือกใช้ภาษาที่เรียบง่าย แต่มีความชัดเจนและมีความหมายลึกซึ้งชวนให้คิดวิเคราะห์ นอกจากนี้ภาษาที่ทรงใช้ยังเป็นแบบอย่างในการใช้ภาษาได้อย่างสมบูรณ์ เป็นต้นว่า “โครงการโรงเรียนพระดาบส” “อธรรมปราบอธรรม” “โครงการแก้มลิง” “ป่าสามอย่างสี่ประโยชน์” “แกล้งดิน” “ก่อกวน เลี้ยงให้อ้วน โจมตี” “การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก” “สี่น้ำ สามรส” “เศรษฐกิจแบบพอเพียง” “ขาดทุนคือกำไร” “รู้รักสามัคคี”

        ความไพเราะลึกซึ้งในพระราชดำรัสในวโรกาสต่าง ๆ ย่อมปรากฏอยู่เสมอเป็นต้นว่า

  • การที่จะทำโครงการอะไรจะต้องทำด้วยความรอบคอบและอย่าตาโตเกินไป
  • หากว่าเราทำโครงการที่เหมาะสม ขนาดที่เหมาะสม อาจจะไม่หรูหรา แต่ว่าจะไม่ล้ม หรือถ้าล้ม มีอันตราย ก็ไม่เสียมาก
  • มีความจำเป็นที่จะถอยหลังเพื่อจะก้าวหน้าต่อไป
  • ต้องสามัคคีกัน ต้องอย่าปัดขากันมากเกินไป

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระอัจฉริยะและพระปรีชาสามารถในการทรงพระราชนิพนธ์เป็นอย่างยิ่ง ทรงพระราชนิพนธ์มาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ พระราชนิพนธ์ล้วนมีความสำคัญและทรงคุณค่า ตัวอย่างเช่น พระราชนิพนธ์เรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์” “พระราชานุกิจรัชกาลที่ ๘ ” และ “พระมหาชนก” ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ที่ทรงคุณค่ายิ่ง

          พระราชนิพนธ์เรื่อง “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ” และพระราชนิพนธ์เรื่อง “ติโต” เป็นพระราชนิพนธ์ที่แสดงให้เห็นพระปรีชาสามารถในการแปลและภาษาศาสตร์ประยุกต์ อันเป็นการนำพระปรีชาสามารถในภาษาไทยและภาษาต่างประเทศมาประสานเข้าด้วยกันอย่างสละสลวย ก่อให้เกิดอรรถรสในทางภาษาและเนื้อหาได้อย่างดียิ่ง

          พระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” เป็นพระราชนิพนธ์ที่แสดงให้เห็นพระอัจฉริยภาพในการทรงพระราชนิพนธ์ โดยทรงสอดแทรกพระสัทธรรมในพระพุทธศาสนา เช่น วิริยะ อุตสาหะ และขันติ เป็นต้น เพื่อให้พสกนิกรของพระองค์ได้ลิ้มรสพระสัทธรรม และนำมาประยุกต์ใช้สร้างสรรค์และฟันฝ่าอุปสรรคปัญหาในการดำเนินชีวิตให้ผ่านพ้นไปอย่างมีความสุข ทรงแปลพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” จากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้พระราชนิพนธ์เรื่องนี้มี ๒ พากย์ คือ พากย์ภาษาไทย และพากย์ภาษาอังกฤษ พระอัจฉริยภาพในการแปลจะเห็นได้จากส่วนหนึ่งในพระราชนิพนธ์ที่ได้อัญเชิญมา ดังนี้

          “ในอดีตกาลอันพ้นคณนาวิสัยครั้งหนึ่ง พระราชาพระนามว่า มหาชนก ครองราชสมบัติอยู่ในกรุงมิถิลาแคว้นวิเทหะ พระเจ้ามหาชนกนั้น มีพระราชโอรสสองพระองค์ พระนามว่าอริฏฐชนก และโปลชนก พระราชาพระราชทานตำแหน่งอุปราชแก่องค์พี่ และตำแหน่งเสนาบดีแก่องค์น้อง กาลต่อมาพระมหาชนกราชสวรรคต พระอริฏฐชนกได้ครองราชสมบัติ และทรงตั้งพระโปลชนกเป็นอุปราช”

          “Once upon an uncomputable time past, there was a king bearing the name of Mahajanaka who reigned in the city of Mithila in the land of Videha. King Mahajanaka had two sons named respectively Aritthajanaka and Polajanaka. The elder son was invested by the King as Viceroy, and the younger one, Chief Minister. In the course of time, the King passed away to Heaven. Prince Aritthajanaka acceded to the throne and invested his brother as Viceroy.”

        โครงการสารานุกรมสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เป็นโครงการที่แสดงให้เห็นพระปรีชาสามารถทางภาษาศาสตร์ และแสดงให้เห็นสายพระเนตรอันยาวไกลที่ทรงมุ่งหวังให้ประชาราษฎร์ทุกระดับชั้น ได้มีความรู้ในวิชาการสาขาต่าง ๆ ด้วยสื่อภาษาที่เหมาะสมแก่วัย โดยทรงกำหนดหลักการทำคำอธิบายเรื่องต่าง ๆ เป็นสามระดับ คือ สำหรับเยาวชนรุ่นเล็ก เยาวชนรุ่นกลาง และเยาวชนรุ่นใหญ่รวมทั้งผู้ใหญ่ นับเป็นพระอัจฉริยภาพทางภาษาศาสตร์เชิงสังคมอย่างแท้จริง

        ด้วยพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทางภาษาศาสตร์ และพระปรีชาสามารถที่ทรงเป็นแบบอย่างในการใช้ภาษาอย่างเรียบง่าย ถูกต้อง ชัดเจน และมีประสิทธิภาพ ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์ พระบรมราโชวาท และกระแสพระราชดำรัส ดังที่กล่าวมา สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการประชุมครั้งที่ ๗/๒๕๔๒ เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเห็นสมควรขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาศาสตร์ประยุกต์ แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เพื่อเป็นราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติให้เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกัน และเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และวงวิชาการภาษาศาสตร์ประยุกต์สืบไป

line