พระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อประชาราษฎร์ ด้านภาษาศาสตร์ประยุกต์ – ตามรอยพระยุคลบาท สรรพศิลปศาสตราธิราช

images

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงมีพระปรีชาสามารถในศาสตร์สาขาต่าง ๆ ด้านมนุษยศาสตร์เป็นต้นว่า สาขาภาษาศาสตร์ประยุกต์ ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางอรรถศาสตร์ คือ ทรงเลือกใช้ภาษาที่เรียบง่าย แต่มีความชัดเจน และมีความหมายลึกซึ้งชวนให้คิดวิเคราะห์ ทรงเป็นแบบอย่างในการใช้ภาษาได้อย่างสมบูรณ์ เช่น  “ขาดทุนหรือกำไร” “ก่อกวน เลี้ยงให้อ้วน โจมตี” และ “โครงการแก้มลิง” เป็นต้น ความไพเราะลึกซึ้งในพระราชดำรัสในวโรกาสต่าง ๆ ย่อมปรากฏอยู่เสมอ เป็นต้นว่า “มีความจำเป็นที่จะถอยหลักเพื่อจะก้าวหน้าต่อไป” ทรงมีพระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาสามารถในการพระราชนิพนธ์ เช่น บทพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” ที่ได้สอดแทรกพระสัทธรรมในพระพุทธศาสนา บทพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง “ติโต” และ “นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” บทพระราชนิพนธ์เรื่อง “ทองแดง” โครงการสารานุกรมสำหรับเยาวชน เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นพระปรีชาสามารถทางภาษาศาสตร์และด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลที่มุ่งหวังให้ราษฎรทุกระดับชั้นได้มีความรู้ในวิชาการสาขาต่าง ๆ ด้วยสื่อภาษาที่เหมาะสมแก่วัย สาขาศิลปะและดนตรี ได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงและโปรดการทรงดนตรีเมื่อทรงว่างจากพระราชกรณียกิจ ทรงพระปรีชาสามารถรอบรู้ทางด้านดนตรีและทรงบรรเลงเครื่องดนตรีได้เกือบทุกชนิด ได้ทรงรับการถวายการยกย่องว่าทรงเป่าโซปราโน แซกโซโฟน ได้ดีที่สุดในประเทศไทย ทรงสนับสนุนให้มีการก่อตั้งวงดนตรี “วงลายคราม” “วง อ.ส.วันศุกร์” และ “วงสหายพัฒนา” และได้ทรงสนับสนุนการดนตรีของนักเรียน นิสิตนักศึกษาทุกระดับ เคยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรี ณ มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยบางแห่งเป็นการส่วนพระองค์ รวมถึง ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้รับพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ทรงพระราชนิพนธ์และทรงมีส่วนร่วมในการประพันธ์เพลงไว้เป็นจำนวนถึง ๔๓ เพลง สถาบันการดนตรีและศิลปะอันเก่าแก่และมีชื่อเสียงแห่งกรุงเวียนนา ได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาสมาชิกกิตติมศักดิ์ อันดับที่ ๒๓  ซึ่งนับเป็นชาวเอเชียแต่เพียงพระองค์เดียวที่ได้รับการสดุดีพระเกียรติ