คำประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
พ.ศ. ๒๕๔๒ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการเป็นคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่การพัฒนาการประมงของประเทศไทย เป็นที่ประจักษ์แก่อาณาประชาราษฎร์ทุกหมู่เหล่าตลอดมา ได้มีพระบรมราโชบายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการประมง ทั้งในด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การพัฒนาการประมงในแหล่งน้ำ การอนุรักษ์ทรัพยากรประมง การบริหารจัดการทรัพยากรประมง การส่งเสริมการประมง และการพัฒนาวิชาการและการวิจัยการประมง
พระราชกรณียกิจที่เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทย ได้แก่ การพระราชทานพระราชดำริให้กรมประมงนำพันธุ์ปลาหมอเทศ ซึ่งทดลองแล้วพบว่า เลี้ยงง่าย โตเร็ว อดทน และขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว สามารถเลี้ยงได้ในแหล่งน้ำทั่วทุกภาคของประเทศ เข้าไปเพาะเลี้ยงในบริเวณสวนจิตรลดา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ และได้พระราชทานลูกปลาหมอเทศจากการเพาะเลี้ยงดังกล่าวแก่กำนันและผู้ใหญ่บ้านทั่วพระราชอาณาจักร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ เพื่อนำไปเลี้ยงและขยายพันธุ์ในตำบลและหมู่บ้านของตน พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งซึ่งอำนวยประโยชน์ต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างกว้างขวาง ได้แก่ การเลี้ยงและการเพาะขยายพันธุ์ปลา ทิลาเปีย นิโลติกา (Tilapia nilotica) ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโต แห่งประเทศญี่ปุ่น ในขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นที่มกุฎราชกุมาร ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ และโปรดเกล้าฯ ให้เลี้ยงไว้ในบ่อสวนจิตรลดา เมื่อทรงศึกษาจนทราบว่าเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว อดทน รสชาติดี แพร่พันธุ์ง่าย และสามารถช่วยประชาชนที่ยากจนได้ จึงได้พระราชทานชื่อปลานี้ว่า “ปลานิล” และให้กรมประมงนำไปเพาะขยายพันธุ์เพื่อแจกจ่ายแก่ราษฎร เป็นผลให้ปลานิลกลายเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งที่ราษฎรนิยมเพาะเลี้ยงอย่างกว้างขวาง และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ ต่อมายังได้พระราชทานพ่อแม่พันธุ์ปลานิลจากบ่อสวนจิตรลดา เพื่อใช้ในการควบคุมพันธุกรรม มิให้ปลานิลเสื่อมพันธุ์อีกด้วย
ในด้านการพัฒนาการประมงในแหล่งน้ำ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ มีพระราชดำริให้ใช้แหล่งน้ำที่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อการเกษตร เป็นแหล่งขยายพันธุ์สัตว์น้ำ และแหล่งพัฒนาการประมงควบคู่กันไป เพื่อเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำให้พอเพียงกับความต้องการของราษฎรในพื้นที่ ในกรณีถิ่นทุรกันดาร โปรดเกล้าฯ ให้กรมประมงจัดตั้งโครงการพัฒนาการประมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนสัตว์น้ำบริโภคของราษฎร ทุกครั้งที่เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในชนบทจะทรงปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงในแหล่งน้ำดังกล่าว เพื่อทดแทนส่วนที่ได้ใช้ไป อีกด้วย
สำหรับการอนุรักษ์ทรัพยากรประมง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงสนพระราชหฤทัยการอนุรักษ์พันธุ์ปลาไทยที่หายาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุรักษ์พันธุ์ปลาน้ำจืดด้วยการเพาะและขยายพันธุ์ เช่น ได้มีพระราชดำริให้กรมประมงศึกษาวิจัยเพื่อหาวิธีที่เหมาะสมในการเพาะและขยายพันธุ์ปลากระโห้ และปลาบึก จนประสบผลสำเร็จ แล้วนำลูกปลาไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติต่าง ๆ สำหรับปลากระโห้ ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดมีเกล็ดในกลุ่มปลาคาร์ปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ได้พระราชทานพ่อและแม่พันธุ์จากบ่อสวนจิตรลดาเพื่อใช้ในการนี้ ส่วนปลาบึก ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีเฉพาะในแม่น้ำโขง และเกือบจะสูญพันธุ์ ได้ทรงให้ใช้พ่อและแม่พันธุ์ที่มีอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ และได้ทรงติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินการเป็นเนืองนิจ
ส่วนการบริหารการจัดการทรัพยากรประมง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงส่งเสริมให้เกษตรกรรู้จักใช้ทรัพยากรอย่างถูกต้องเหมาะสม และรู้จักบริหารจัดการการประมงอย่างถูกวิธี โดยให้แบ่งเขตระหว่างน้ำจืดและน้ำเค็ม ให้พัฒนาระบบชลประทานเพื่อการเลี้ยงกุ้ง ให้ใช้ระบบชีวภาพในการบำบัดน้ำเสียจากบ่อเลี้ยงกุ้งทะเล พร้อมกับให้ศึกษาวิธีเลี้ยงกุ้งทะเลที่ไม่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศเดิมที่เป็นอยู่ในธรรมชาติ
ในด้านการส่งเสริมการประมง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมประมงรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงปลาในบ่อเป็นประเดิม ในการนี้ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้สระน้ำบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถานเป็นบ่อขยายพันธุ์ปลาหมอเทศด้วย นอกจากนี้ ยังมีพระราชดำริให้รวมการสาธิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการส่งเสริมอาชีพประมง ไว้ในภารกิจของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง ๖ แห่ง และให้โครงการพัฒนาการประมงเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งปวงอีกด้วย
เกี่ยวกับการพัฒนาวิชาการและการวิจัยการประมง ทรงเน้นแนวทางผสมผสานโดยมุ่งใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น จึงมีพระราชดำริให้การพัฒนาวิชาการและการวิจัยการประมงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของงานวิจัย ทั้งในศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ แต่ละแห่ง และในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอื่น ๆ เช่น โครงการของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งดำเนินการวิจัยและพัฒนาการเลี้ยงกุ้งกุลาดำควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนในแหล่งน้ำภาคใต้ที่มีดินเป็นกรดค่อนข้างสูง ได้มีพระราชดำริให้วิจัยเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาท้องถิ่นที่ทนความเป็นกรดได้ดี เป็นผลให้มีการพัฒนาการเลี้ยงปลาสลิดและปลาดุกลำพัน ซึ่งสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดังกล่าว
พระราชกรณียกิจ พระบรมราโชบาย และพระราชดำริเกี่ยวกับการประมง ที่ได้ทรงปฏิบัติมาอย่างไม่ลดละนับแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นต้นมา ได้อำนวยประโยชน์ให้บังเกิดความร่มเย็นเป็นสุขแก่พสกนิกร เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นคุณประโยชน์ต่อวงวิชาการการประมงเป็นอย่างยิ่ง สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการประชุมครั้งที่ ๗/๒๕๔๒ เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเห็นสมควรขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การประมง แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เพื่อเป็นราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติให้เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกัน และเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และวงวิชาการวิทยาศาสตร์การประมงสืบไป