พระบรมราโชวาท
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ในพิธีประสาทปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๐
ข้าพเจ้ามีความยินดี ที่ได้มาทำพิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อีกวาระหนึ่ง ขอแสดงความชื่นชมกับผู้ทรงคุณวุฒิและบัณฑิตทุกคน ที่ได้รับเกียรติและความสำเร็จในการศึกษา
เมื่อวานนี้ ข้าพเจ้าได้กล่าวกับบัณฑิตในที่ประชุมนี้เป็นความว่า ปัญญานั้นมีอยู่ ๒ ลักษณะ คือปัญญาที่เกิดจากการเล่าเรียนจดจำอย่างหนึ่ง กับปัญญาที่เกิดจากการศึกษาสังเกตและพิจารณาจนรู้ชัดอย่างหนึ่ง บัณฑิตเป็นผู้ได้รับการศึกษาอบรมมาดีแล้ว จึงควรจะได้พยายามศึกษาสังเกตให้มาก ไม่มองข้ามแม้สิ่งเล็กน้อย อย่างต้นหญ้า ก็สามารถนำมาพิจารณาเทียบเคียงให้เป็นประโยชน์แก่การดำเนินชีวิตได้
ในวันนี้ ใคร่จะกล่าวเพิ่มเติมแก่ท่านทั้งหลายว่า สิ่งที่ดีมีประโยชน์นั้น จะต้องใช้ให้ถูกต้องตามหลักวิชา และเหมาะสมแก่สภาพการณ์ทั่วไปด้วย จึงจะได้ผลที่พึงประสงค์ อย่างเช่น การปลูกหญ้าแฝก จะต้องปลูกให้ชิดติดกันเป็นแผง และวางแนวให้เหมาะสมกับลักษณะของภูมิประเทศ เป็นต้นว่า บนพื้นที่สูง จะต้องปลูกตามแนวขวางของความลาดชันและร่องน้ำ บนพื้นที่ราบ จะต้องปลูกรอบแปลงหรือปลูกตามร่องสลับกับพืชไร่ ในพื้นที่เก็บกักน้ำ จะต้องปลูกเป็นแนวเหนือแหล่งน้ำ หญ้าแฝกที่ปลูกโดยหลักวิธีดังนี้ จะช่วยป้องกันการพังทลายของหน้าดิน รักษาความชุ่มชื้นในดิน เก็บกักตะกอนดินและสารพิษต่าง ๆ ไม่ให้ไหลลงแหล่งน้ำ ซึ่งจะอำนวยผลเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนการฟื้นฟูดินและป่าไม้ให้สมบูรณ์ขึ้น บัณฑิตผู้จะออกไปเริ่มต้นชีวิตการงานต่อไป จึงควรจะได้ศึกษาพิจารณาเรื่องความถูกต้องเหมาะสมที่กล่าวนี้ให้ทราบชัด แล้วกำหนดเป็นหลักปฏิบัติให้แก่ตัวเองว่า ในการปฏิบัติกิจการงานทุกอย่างนั้น นอกจากต้องมีความรู้ความคิดที่ดีมีประโยชน์แล้ว จะต้องใช้ความรู้ความคิดให้ถูกต้องพอเหมาะพอดีแก่งาน แก่สถานการณ์ แก่บุคคล และท้องถิ่นด้วย จึงจะหวังผลตอบแทนที่สมบูรณ์คุ้มค่าได้
ขออวยพรให้บัณฑิตทุกคนประสบความสุขและความสำเร็จในชีวิต มีความก้าวหน้ารุ่งเรืองในหน้าที่การงาน และขอให้ทุกท่านที่มาชุมนุมพร้อมกันในพิธีนี้ มีความเจริญสวัสดีทั่วกัน