ปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิศวกรรมทรัพยากรน้ำ) – ตามรอยพระยุคลบาท สรรพศิลปศาสตราธิราช

ปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิศวกรรมทรัพยากรน้ำ)

s2548

p-2548
btn2548

คำประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ

พ.ศ. ๒๕๔๘ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ

ขอพระราชทานกราบทูล ฝ่าพระบาท

          ด้วยสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในคราวประชุมครั้งที่ ๕/๒๕๔๘ เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ  แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ในฐานะที่ทรงพระปรีชาสามารถในศาสตร์ทางวิศวกรรมทรัพยากรน้ำอย่างกว้างขวาง พระปรีชาสามารถนี้ ดังจะเห็นได้จากพระราชดำรัสและพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านน้ำท่วม น้ำขาดแคลน และคุณภาพนี้ที่ได้พระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ทั้งที่เป็นคณะรัฐมนตรี นักการเมือง ข้าราชการ และพสกนิกรทั่วไปอยู่อย่างสม่ำเสมอ ทั้งได้ทรงประยุกต์ใช้ศาสตร์สาขาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ สนับสนุนโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนส่วนใหญ่ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งต้องการน้ำเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อการเพาะปลูกและการดำรงชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งราษฎรในท้องถิ่นชนบท ทุรกันดารที่ขาดแคลนแหล่งน้ำ เพื่อการบริโภคอุปโภค และการเกษตรกรรม ให้บรรเทาลงหรือหมดสิ้นไป ส่งผลให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

          วิศวกรรมทรัพยากรน้ำเป็นศาสตร์ที่วาด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ เพื่อสร้างองค์ความรู้และภูมิปัญญาในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ การสังเคราะห์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำ การศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ทั้งในด้านการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และภาวะน้ำท่วมในฤดูฝน ตลอดจนการเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทำให้คุณภาพน้ำตามแหล่งน้ำของชุมชนเมืองใหญ่ ๆ เสียไปไม่อาจใช้ประโยชน์ได้

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ  นอกจากจะทรงพระปรีชาสามารถในศาสตร์ทางวิศวกรรมทรัพยากรน้ำอย่างกว้างขวางแล้ว ยังทรงเป็นนักวิจัยและผู้นำในการปฏิบัติวิชาชีพวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ ดังจะเห็นได้จากที่ทรงมุ่งมั่นศึกษารายละเอียดจากแผนที่พิกัดที่ตั้งหมู่บ้านในทุกท้องถิ่นชนบทที่ห่างไกลและยากจนแร้นแค้นแหล่งน้ำที่จะพึงจัดหาได้ในพื้นที่นั้น ๆ หลังจากที่ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรสภาพภูมิประเทศจริง จึงทรงกำหนดโครงการต่าง ๆ ขึ้นบนแผนที่ และพระราชทานแก่หน่วยงานที่รับผิดชอบรับไปพิจารณาดำเนินการให้เหมาะสม และถูกต้องในเชิงวิชาการ ดังจะเห็นได้จากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริประเภทและขนาดต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ทุกท้องถิ่นชนบททั่วประเทศ ล้วนช่วยให้ราษฎรได้มีน้ำใช้ในการดำรงชีพ ทำการเกษตรกรรม เพาะปลูก เลี้ยงปลา และเลี้ยงสัตว์ นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่ราษฎรเป็นอย่างมาก

          นอกเหนือจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ แล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้พระราชทานทฤษฎี แนวทาง และนวัตกรรมต่าง ๆ ที่นำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ อาทิ “โครงการแก้มลิง” เพื่อนำไปใช้ในการบริหารจัดการน้ำท่วมในฤดูฝน และแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง การเกษตรกรรม “ทฤษฎีใหม่” เพื่อนำไปใช้แก้ไขการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และบริหารจัดการน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน “Hydrodynamic Flow Measurement” เพื่อนำไปใช้คาดการณ์ เตือนภัยน้ำท่วม และการบริหารจัดการน้ำท่วมแบบต่อเนื่องตลอดเวลา “กังหันน้ำชัยพัฒนา” เพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือบำบัดน้ำเสีย “การบำบัดน้ำเน่าเสียด้วยผักตบชวา” เพื่อนนำไปใช้แก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียจากคลองสามเสนและบึงมักกะสัน “ฝนหลวง” หรือ “ฝนเทียม” เพื่อนำไปใช้แก้ไขปัญหาภัยแล้ง เป็นต้น

          นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ยังทรงพิจารณาเห็นว่ากำลังบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการพัฒนาประเทศ จึงได้พระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงแก่ผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อไปศึกษาวิชาการชั้นสูงแขนงวิชาต่าง ๆ ต่อ ณ สถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำความรู้มาใช้พัฒนาประเทศ และยังทรงรับสมาคมทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง อาทิ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย

          พระราชดำรัสและพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานด้านวิศวกรรมทรัพยากรนำของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ มีลักษณะเฉพาะ คือ มีความชัดเจน กระจ่าง มีลำดับขั้นตอนแน่นอน ปราศจากความกำกวม และสามารถปฏิบัติได้ทันที รวมทั้งมีกำหนดเวลาที่แน่นอน สามารถวัดผลและเปรียบเทียบผลได ซึ่งลักษณะทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นแก่นแท้ความรู้ทางวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ และทรงประยุกต์ใช้แก่นความรู้นี้แก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของประเทศเป็นที่ประจักษ์ต่อผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทและพสกนิกรทั่วไป

          ด้วยพระปรีชาสามารถความเข้าพระทัยในแก่นแท้ของความรู้ทางวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ อีกทั้งพระราชดำริและพระราชกรณียกิจ ที่ทรงนำความรู้ทางวิศวกรรมทรัพยากรน้ำไปประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ก่อให้เกิดประโยชน์อเนกอนันต์ต่อประเทศชาติและพสกนิกร สภามหาวิยาลัยเกษตรศาสตร์จึงเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาวิศวกรรมดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติคุณให้เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกัน ทั้งเพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และวงวิชาการวิศวกรรมทรัพยากรน้ำสืบไป

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

line