ปริญญาสัตวแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ – ตามรอยพระยุคลบาท สรรพศิลปศาสตราธิราช

ปริญญาสัตวแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

p-2544

ebook-2544-2

btn2544-2
คำประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
พ.ศ. ๒๕๔๔  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาราษฎร์ ด้วยพระปรีชาสามารถมีพระอัจฉริยภาพเป็นเลิศในศาสตร์ต่างๆ ถึงพร้อมด้วยพระเมตตาคุณและพระปัญญาคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการสัตวแพทย์ ทรงส่งเสริมและสนับสุนวิชาชีพและการศึกษาสาขาสัตวแพทยศาสตร์ การเลี้ยงโคนมอย่างครบวงจร การปศุสัตว์ การสัตวแพทยศาธารณสุข การเลี้ยงสัตว์ และการเตรียมพื้นที่ป่าและสัตว์ป่ารองรับสัตว์ป่าคืนถิ่น ตามพระราชดำริเป็นอาทิ เพื่อให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีความร่มเย็นผาสุกถ้วนหน้า

          ในด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา สาขาสัตวแพทยศาสตร์ ทรงวางรากฐานการศึกษาด้วยการ พระราชทานทุนการศึกษามูลนิธิอานันทมหิดลแก่อาจารย์มหาวิทยาลัยได้ไปศึกษาต่อเพื่อเป็นกำลังสำคัญมาพัฒนาบุคลากรด้านสัตวแพทย์ให้กว้างไกล และเป็นกำลังสำคัญในการศึกษาต่อไป

          ในด้านการเลี้ยงสัตว์นั้น ได้มีพระราชดำริและทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจหลากหลาย ทั้งในการเสด็จพระราชดำเนินไปทั่วทุกแห่งในแผ่นดินไทย เพื่อทรงเยี่ยมเยียนศึกษาปัญหาที่ราษฎรประสบอยู่ และมีพระบรมราชวินิจฉัยในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร ทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับสนองพระราชดำริ อาทิ การส่งเสริมการเลี้ยงโคนมอย่างครบวงจรได้เริ่มต้นอย่างจริงจังและมีแบบแผน หลังจากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศเดนมาร์คเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๐๓ และหลังจากนั้น รัฐบาลเดนมาร์คได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนม “ฟาร์มโคนม ไทย-เดนมาร์ค” ที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี และได้เสด็จพระราชดำเนินทางเปิด เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๕ มีพระราชดำริขณะนั้นว่า เด็กไทยควรจะได้ดื่มนมเพื่อให้มีร่างกายแข็งแรง และส่วนสูงเพิ่มขึ้น แต่ควรผลิตนมในประเทศไทยไม่ต้องนำเข้า และเกษตรกรไทยผู้เลี้ยงโคนมจะมีรายได้สูงกว่าอาชีพเกษตรอื่นๆ

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อจัดสร้างโรงโคนมสวนจิตรลดาขึ้นภายในบริเวณเขตพระราชฐานสวนจิตรลดา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ ทรงใช้หลักวิชาการดูแลสุขภาพสัตว์เพื่อเพิ่มผลผลิตจากสัตว์ที่ โรงโคนมส่วนพระองค์ ทำให้กิจการขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากโคนมที่เลี้ยง ๖ ตัว ในระยะแรก จนมีถึง ๑๐๐ ตัวในปัจจุบัน ทำให้ได้ผลผลิตน้ำนมจำนวนมากที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารบริโภคที่มีคุณค่า ไม่เฉพาะจำหน่ายแก่ข้าราชบริพารเท่านั้น แต่ประชาชนทั่วไปก็สามารถหาบริโภคได้ และขยายตัวจนมีทั้งโรงโคนมสวนจิตรลดา โรงนมผงสวนดุสิต ศูนย์รวมนมสวนจิตรลดา โรงนมเม็ด โรงเนยแข็ง เป็นต้น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้กิจการทั้งหลายดังกล่าวเป็นแหล่งตัวอย่างเพื่อการศึกษาของนักวิชาการและประชาชน ให้ศูนย์รวมนมนี้รับน้ำนมจากเกษตรกรของสหกรณ์โคนมอยุทธยาและหนองโพมาผลิตโดยผ่านกรรมวิธีที่ทันสมัย ผลิตนมสดพาสเจอร์ไรส์ และนมปรุงแต่งส่งจำหน่ายในสถานที่ต่างๆ เป็นพระปรีชาสามารถในการตระหนักถึงหลักการสุขาภิบาลอาหารที่ปลอดภัยเพื่อการบริโภค กล่าวได้ว่าเป็นงานส่วนหนึ่งของวิชาชีพสัตวแพทย์ที่มีจุดมุ่งหมายไม่แต่เฉพาะด้านการรักษาสัตว์เท่านั้น สัตวแพทย์ยังมีหน้าที่พัฒนาการเลี้ยงสัตว์ การดูแลสัตว์ให้มีสุขภาพดี และดูแลผลผลิตจากสัตว์เพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่มีคุณค่าต่อคนในประเทศด้วย พระราชกรณียกิจในด้านนี้เป็นแบบอย่างของงานด้านสัตวแพทยสาธารณสุข และการดูแลสุขภาพสัตว์ที่มีค่ายิ่ง

          นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ส่วนหนึ่งเพื่อก่อสร้าง โรงนมผงขึ้นที่ตำบลหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ใน พ.ศ. ๒๕๑๒ และได้โอนกิจการให้กับสหกรณ์โคนมหนองโพ และทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต่อมาได้จัดตั้งสหกรณ์โคนม จังหวัดชุมพร ศูนย์รวมนมสกลนครตามพระราชดำริ โครงการนมฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุในประเทศไทย

          ธนาคารโค-กระบือ เพื่อการเกษตรตามพระราชดำริเป็นอีกโครงการหนึ่งที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรเช่าโค-กระบือ ไปใช้แรงงานในฤดูกาลเพาะปลูกในราคาถูกหรือให้ยืมไปเลี้ยงเพื่อผลิตลูกโคและกระบือ สุดแต่ความประสงค์ของชาวนา ผลของโครงการทำให้ชาวนามีโค-กระบือใช้เป็นแรงงานประกอบอาชีพ โดยทรงมีพระราชดำริว่าเมื่อน้ำมันแพงขึ้น การใช้เครื่องจักรกลและเครื่องทุ่นแรงทางการเกษตรจะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เกษตรกรจำเป็นต้องหันมาพึ่งแรงงานจากสัตว์เลี้ยงที่เคยใช้มาก่อน แต่ก็ประสบปัญหาการขาดแคลนโค-กระบือ ทรงเริ่มโครงการที่จังหวัดปราจีนบุรี โดยกรมปศุสัตว์รับสนองพระราชดำริ และต่อมาได้ขยายโครงการไปดำเนินการในพื้นที่ต่างๆอย่างแพร่หลาย ปัจจุบันธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริสามารถให้เกษตรกรสามารถเช่าซื้อ โดยผ่อนส่งระยะยาว เช่าเพื่อใช้งานให้ยืมใช้งานหรือให้ยืมเพื่อทำการขยายพันธุ์ได้

          โครงการหลวงภาคเหนือ โครงการหลวงพัฒนาชาวเขาเพื่อพัฒนาอาชีพชาวเขา เพื่อให้ชาวเขายุติการตัดไม้ทำลายป่าให้มีที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง เพื่อมีอาชีพที่สุจริตแทนการปลูกฝิ่น ทรงนำพันธุ์สุกร แกะ ม้า ล่อ ห่าน เป็ด ไก่ และปลา ไปพระราชทานเพื่อทดลองเลี้ยง โดยทรงแนะนำวิธีการเลี้ยงง่ายๆ แบบธรรมชาติ โดยมีวัตถุประสงค์ให้มีอาหารโปรตีนไว้บริโภคตลอดปี และไม่ต้องออกไปล่าสัตว์ที่เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ได้พระราชทานพระราชดำริระบบเกษตรสมบูรณ์แบบในศูนย์ศึกษาการพัฒนาตามพระราชดำริทุกศูนย์ฯ ที่ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สำนักงาน กปร.ประสานงานจัดตั้งในภาคต่างๆ ได้แก่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องจากพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้เป็นศูนย์รวมการศึกษาและพัฒนาสาขาต่างๆ ที่เหมาะสมกับท้องถิ่นไปรวมไว้ในที่เดียวกัน รวมทั้งกิจกรรมการเลี้ยงสัตว์ทั้งหมด เพื่อให้เกษตรกรใช่เป็นแหล่งการศึกษาและเลือกนำเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จไปใช้ประกอบอาชีพได้

         ในการเลี้ยงสัตว์ทรงมีน้ำพระราชหฤทัยเปี่ยมด้วยพระเมตตาสงสารเอื้ออาทรต่อชีวิตของสัตว์ทั้งปวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เลี้ยงสัตว์ที่มีผู้ถวายหรือสัตว์ที่ถูกทอดทิ้งซึ่งทรงพบเห็นไว้ในเขตพระราชฐานนับตั้งแต่ ช้างต้น ลิง นกพิราบ นกกา สุนัข ซึ้งได้ทรงเล่าพระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้า ทูลละอองธุลีพระบาทในโอกาสต่างๆ และทรงแนะนำวิธีการแก้ไข ปัญหาในการดูแลสัตว์เลี้ยง ซึ่งมีความรักและซื่อสัตย์ต่อเจ้าของ ทรงให้สังเกตอากัปกิริยา ดวงตา พฤติกรรมที่แสดงออก ซึ่งสื่อความหมายให้เจ้าของเข้าใจ

          ด้วยพระปรีชาสามารถและราชหฤทัยอันเต็มเปี่ยมด้วยพระมาหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยต่อการเลี้ยงสัตว์ และสัตว์เลี้ยงอันโยงใยมาสู่พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร์ ดังได้ทรงศึกษาพิจารณาปัญหาของเกษตรกรในการที่จะเลี้ยงสัตว์ไว้ใช้แรงงานและบริโภคผลิตภัณฑ์ ทรงศึกษาพิจารณาสัตว์เลี้ยงซึ่งใกล้ชิดกับเจ้าของด้วยความละเอียดอ่อน ตลอดจนทรงแนะนำวิธีแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างประหยัด เรียบง่าย ราษฎรสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการตามสาขาสัตวแพทยศาสตร์ สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการประชุมครั้งที่ ๕/๒๕๔๔ เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๔ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นสมควรขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาสัตวแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกรียติคุณให้เป็นที่ประจักษ์ โดยทั้วกัน และเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และวงวิชาการสัตวแพทยศาสตร์สืบไป

line