

คำประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
พ.ศ. ๒๕๔๒ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพระมหาธรรมิกราชาผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐสุดแก่ปวงชนชาวไทย มีพระราชอัธยาศัยและพระราชจริยาวัตรทุกประการงดงามบริสุทธิ์ ทรงมั่นคงในทศพิธราชธรรม ทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาคุณ พระปัญญาคุณ และพระบริสุทธิคุณ ทรงนำประเทศผ่านพ้นอุปสรรคและภัยพิบัติด้วยดีตลอดมา ทรงอุทิศพระวรกายบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการด้วยพระวิริยะอุตสาหะ ทรงเป็นมิ่งขวัญและศูนย์รวมแห่งความสามัคคีของปวงชนชาวไทย นับตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นต้นมา ประเทศไทยมีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าและมั่นคงเป็นปึกแผ่น ด้วยพระปรีชาสามารถด้านการจัดการและการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการและการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ได้พระราชทานแนวพระราชดำริและปรัชญาเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะสม พร้อมกับนำไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมตามแนวทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืน แสดงถึงพระอัจฉริยภาพในการบูรณาการความรอบรู้หลากหลายในเชิงสหวิทยาการอย่างกลมกลืนเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เป็นผลให้ประสบความสำเร็จด้วยดีและนำมาซึ่งความผาสุกของพสกนิกร และความเจริญก้าวหน้าของประเทศ
พระราชกรณียกิจด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นคุณประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มีอเนกประการและพอสรุปได้ ๖ ด้าน คือ การจัดการทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรที่ดิน ทรัพยากรประมง ทรัพยากรการผลิตทางการเกษตร และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในแต่ละกรณีจะมีแนวทางการจัดการอย่างเป็นระบบ มีสหสัมพันธ์ที่สอดคล้องแบบองค์รวม และเหมาะสมต่อศักยภาพของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างดียิ่ง
ด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่มากเป็นพิเศษ โดยมีพระราชดำริว่า น้ำเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งมวล ปัญหาความแห้งแล้งอันเนื่องมาจากป่าไม้ต้นน้ำเสื่อมโทรม ดินในพื้นที่เป็นดินปนทราย และปัญหาขาดแหล่งน้ำจืด จึงสมควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโจ้ จังหวัดเชียงใหม่ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยขี้หิน จังหวัดสกลนคร โครงการพัฒนาห้วยแม่เพรียง จังหวัดเพชรบุรี และโครงการพัฒนาลุ่มน้ำคลองหอยโข่งและคลองจำไทร จังหวัดสงขลา รวมทั้งโครงการเขื่อนป่าสัก จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นโครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เป็นอาทิ นอกจากนี้ยังได้ทรงคิดค้นหาวิธีอื่น ๆ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ เช่น การจัดการน้ำในบรรยากาศเพื่อการเกษตรด้วยการทำฝนเทียม หรือ “ฝนหลวง” และ การใช้ “เครื่องดักหมอก” เป็นต้น
โดยที่ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรป่าไม้เป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมฉับพลัน และการพังทลายของดินอย่างรุนแรง จึงทรงมุ่งเน้นการอนุรักษ์และฟื้นฟูในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ด้วยการแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการปลูกป่าที่เรียบง่าย ประหยัด และให้ประโยชน์อเนกประสงค์ ราษฎรสามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเอง ทรงให้ตระหนักในความรักป่าไม้ ด้วยจิตสำนึกร่วมกันมากกว่าวิธีการใช้อำนาจบังคับ ทรงนำเสนอทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติในการฟื้นฟูป่าโดยไม่ต้องปลูกด้วยวัฏธรรมชาติ โปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ และโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อการนี้อีกด้วย นอกจากนี้ยังทรงตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ และความหลากหลายทางชีวภาพ พระราชกรณียกิจในเรื่องนี้ ได้แก่ โครงการป่าไม้สาธิตส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และโครงการอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลนในแนวทางการสร้างวงจรของระบบนิเวศในจังหวัดสงขลาและจังหวัดปัตตานี เป็นอาทิ
สำหรับการจัดการทรัพยากรดิน ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาดินเพื่อการเกษตรควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น โครงการพัฒนาที่ดินตามพระราชดำริทุ่งลุยลาย จังหวัดชัยภูมิ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา การศึกษาวิจัยดินพรุเพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวด้วยวิธี “แกล้งดิน” ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส การใช้หญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมตามโครงการฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม จังหวัดราชบุรี เป็นต้น
ในด้านการจัดการทรัพยากรประมง ทรงมุ่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อให้มีสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ อย่างยั่งยืนไว้บริโภค เช่น โครงการส่งเสริมการเลี้ยงปลาในศูนย์ศึกษาการพัฒนาปลวกแดง จังหวัดระยอง-ชลบุรี และศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งปวง สำหรับการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง ทรงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาวิจัยเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำอย่างยั่งยืน รวมทั้งการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชายฝั่งแบบอเนกประสงค์ และจัดทำระบบชลประทานน้ำเค็ม ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี เป็นต้น
พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการผลิตทางการเกษตร ทรงเน้นการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ และความเสี่ยงต่อความเสียหายอันเนื่องมาจากดินฟ้าอากาศและราคาผลผลิตแปรปรวน ได้พระราชทาน “ทฤษฎีใหม่” เพื่อเป็นแนวทางจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรที่ในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการแบ่งพื้นที่ออกเป็น ๔ ส่วน คือ พื้นที่กักเก็บน้ำ ๓๐% พื้นที่นา ๓๐% พื้นที่เพาะปลูก ๓๐% และพื้นที่อยู่อาศัยและประโยชน์ใช้สอยอย่างอื่น ๑๐% โดยปริมาณน้ำที่กักเก็บจะต้องพอเพียงต่อการเพาะปลูกตลอดปี มีการวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่สมบูรณ์ตามแนวทางเกษตรผสมผสาน เกษตรยั่งยืน เกษตรธรรมชาติ และวนเกษตร อันจะนำไปสู่ระบบการผลิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง การใช้ทฤษฎีใหม่มี ๓ ขั้นตอน คือ ขั้นที่หนึ่ง เป็นการดำเนินการเพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้ ขั้นที่สอง มีการรวมกลุ่มร่วมแรงเพื่อความแข็งแรงในการดำเนินการด้านการตลาดของชุมชน ขั้นที่สาม เป็นการขยายการดำเนินการให้เป็นธุรกิจในชุมชนด้วยการหาแหล่งเงินทุนมาสนับสนุน
ในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทรงใช้ความรู้ในเชิงสหวิทยาการเป็นแนวทางจัดการในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเรียบง่าย ประหยัด และใช้ประโยชน์จากธรรมชาติและระบบนิเวศ เช่น ในกรณีน้ำเสีย ทรงนำหลักการบำบัดด้วยการทำให้เจือจางตามทฤษฎี “น้ำดีไล่น้ำเสีย” โดยใช้หลักการตามธรรมชาติแห่งแรงโน้มถ่วงของโลก หลักการบำบัดโดยการกรองน้ำเสียด้วยผักตบชวาตามแนวทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “บึงมักกะสัน” ทฤษฎีการผสมผสานระหว่างพืชน้ำกับระบบการเติมอากาศ ณ บริเวณหนองสนม-หนองหาน จังหวัดสกลนคร ทฤษฎีบ่อบำบัดและวัชพืชบำบัด ณ แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี และทฤษฎีการเติมอากาศ โดยใช้วิธีทำให้อากาศสามารถละลายลงไปในน้ำเพื่อเร่งการเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนแบคทีเรียอย่างรวดเร็ว จนมากพอที่จะทำลายสิ่งสกปรกในน้ำให้หมดสิ้นไปโดยเร็ว ตามแนวทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “กังหันชัยพัฒนา” เป็นต้น
การดำเนินการตามแนวทางจัดการทรัพยากรธรรมชาติอันเนื่องมาจากพระราชดำริใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ดังพรรณนามาโดยสังเขป ได้ส่งผลทางเศรษฐกิจโดยทำให้การใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติมีประสิทธิภาพสูงขึ้น พสกนิกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในด้านทางสังคม ช่วยลดปัญหา ความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ มีความเป็นธรรมและความเท่าเทียมกันในสังคมมากขึ้น พสกนิกร มีความผาสุก ส่วนในด้านสิ่งแวดล้อมช่วยทำให้สภาพสิ่งแวดล้อมมีคุณภาพที่ดีขึ้น ช่วยผ่อนคลายแรง กดดันในการ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติในเชิงทำลาย และช่วยเร่งการฟื้นฟูสภาพของทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อให้ดียิ่งขึ้น
โดยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระปรีชาสามารถและเป็นเลิศในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างถูกต้องและตามหลักวิชาทางเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและ หลักวิชาสาขาอื่น ๆ ในเชิงสหวิทยาการ ทั้งนี้ด้วยน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นด้วยคุณธรรมอันประเสริฐยิ่ง ทรงมุ่งมั่นที่จะขจัดทุกข์บำรุงสุขของพสกนิกรชาวไทย และรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นแหล่งที่มาของทรัพย์แห่งแผ่นดินที่บรรพบุรุษได้สร้างสมไว้ให้ สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการประชุมครั้งที่ ๗/๒๕๔๒ เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเห็นสมควรขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการทรัพยากร แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เพื่อเป็นราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติให้เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกัน และเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และวงวิชาการการจัดการทรัพยากรสืบไป