คำประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
พ.ศ. ๒๕๔๒ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง ทรงศึกษาค้นคว้าทดลองตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์จนเป็นผลสำเร็จแล้วจึงพระราชทานแนวพระราชดำริ ทรงยึดถือแนวทางระบบและแนวทางบูรณาการในการศึกษาและพัฒนาพืช ทรงพระปรีชาสามารถยิ่งเกี่ยวกับระบบพัฒนาการเกษตรที่เหมาะสมทั้งสามระดับ ได้แก่ ระดับวิวัฒนาการของชีวิต ระดับนิเวศ และระดับพืชแต่ละชนิด
ในระดับวิวัฒนาการของชีวิต จะเห็นได้จากแนวพระราชดำริ เรื่อง ทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นผลของการศึกษาอย่างลุ่มลึกโดยละเอียดด้วยพระองค์เอง พระราชดำรินี้เป็นแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรแบบผสมผสานที่ให้ผลพอเพียงและยั่งยืนต่อการดำรงชีพของเกษตรกร จึงเป็นแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมยิ่งทั้งต่อการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษย์และความมีทรัพยากรและพลังงานอย่างพอเพียงสืบต่อไปอย่างยั่งยืน
ในระดับนิเวศ ทรงตระหนักถึงความสำคัญของปัจจัยธรรมชาติที่ควบคุมได้ยากในการทำการเกษตร ได้แก่ แสงแดด อุณหภูมิ และน้ำ จึงทรงมุ่งมั่นศึกษาวิจัยเพื่อหาวิธีจัดการปัจจัยธรรมชาติเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำ เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้มากที่สุด ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดหาแหล่งน้ำในแต่ละพื้นที่ที่จะเพาะปลูกเสียก่อนแล้วจึงเลือกระบบปลูกพืชที่เหมาะสมกับปริมาณน้ำในแหล่งน้ำนั้น ในการนี้ได้ทรงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่อย่างละเอียด และทรงใช้แผนที่ภูมิประเทศเพื่อให้ได้ข้อมูลตามที่เป็นจริงเกี่ยวกับลักษณะภูมิประเทศ แหล่งน้ำ ลักษณะดิน และปัจจัยอื่นที่มีผลต่อพืชที่จะปลูก แล้วจึงทรงพิจารณากำหนดระบบเพาะปลูกสำหรับพื้นที่นั้น
ในระดับพืชแต่ละชนิด ได้ทรงบุกเบิกทดลองปลูกพืชชนิดต่าง ๆ โดยยึดหลักความหลากหลายทางชีวภาพและศักยภาพของพืชเหล่านั้น ทั้งพืชพื้นเมืองและพืชต่างถิ่น ทรงพยายามค้นหาศักยภาพของพืชในหลาย ๆ ด้าน แม้พืชที่ไม่คาดคิดว่าจะปลูกได้ในประเทศไทยก็ได้ทรงนำเข้ามาทดลองปลูกจนกลายเป็นพืชที่รู้จักอย่างกว้างขวางในประเทศในปัจจุบัน เช่น ไม้ผลและไม้ตัดดอกเมืองหนาว ทั้งนี้ มิได้จำกัดแต่เฉพาะพืชที่ ใช้เป็นอาหารเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมพืชที่ให้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ อีกด้วย ได้แก่ พืชเส้นใย เช่น ต้นสา, ย่านลิเภา พืชพลังงาน เช่น อ้อย พืชสกัดเอาสารเคมี เช่น สะเดา, สาหร่ายเกลียวทอง, มะกอก พืชเพื่อการรักษาสภาพแวดล้อม เช่น หญ้าแฝก, ผักตบชวา พืชเสริมป่า เช่น ยางพารา และพืชเอกลักษณ์ที่หายาก เช่นยางนา, สมอไทย, พุดซ้อน, มณฑา, ยี่หุบ เป็นต้น
สำหรับมะกอกนั้นได้ทรงมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดทั้งมะกอกโอลีฟจากต่างประเทศและมะกอกในประเทศไทย เนื่องจากน้ำมันมะกอกเป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่ามีคุณภาพสูงทางโภชนาการ สามารถเพิ่มปริมาณโคเลสเตอรอลชนิดดีและลดปริมาณโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี ซึ่งเป็นต้นเหตุของการอุดตันของเส้นโลหิตได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ผลดิบยังใช้ดองรับประทาน กากของการสกัดน้ำมันก็ใช้เป็นอาหารสัตว์ ปุ๋ยชีวภาพ และใช้เป็นวัสดุปรับปรุงดินได้ ลำต้นใช้ทำผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ราคาสูง ผลการศึกษาวิจัยจึงน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาพืชในสกุลมะกอกให้เป็นทั้งพืชสมุนไพร และพืชเศรษฐกิจ ที่มีความสำคัญของประเทศ
ด้วยพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ด้านวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาพฤกษ์เศรษฐกิจ ตามพระราชกรณียกิจและแนวพระราชดำริดังกล่าว สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการประชุมครั้งที่ ๗/๒๕๔๒ เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเห็นสมควรขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพฤกษ์เศรษฐกิจ แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เพื่อเป็นราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติให้เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกัน และเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และวงวิชาการพฤกษ์เศรษฐกิจสืบไป