ปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิศวกรรมเกษตร) – ตามรอยพระยุคลบาท สรรพศิลปศาสตราธิราช

ปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิศวกรรมเกษตร)

p-2550-2-q

คำประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
พ.ศ. ๒๕๕๐ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงพระปรีชาสามารถในศาสตร์ทางวิศวกรรมเกษตร ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการประยุกต์ความรู้ทางวิศวกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การแปรสภาพ และเก็บรักษาผลผลิตเกษตร ตลอดจนการจัดการและอนุรักษ์พลังงานทางการเกษตรอย่างลึกซึ้งและกว้างขวางพระปรีชาสามารถนี้ครอบคลุมทั้งด้านการพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร ด้านวิศวการแปรสภาพผลิตผลเกษตรและอาหาร และด้านวิศวกรรมพลังงานทางการเกษตร ดังจะเห็นได้จาก พระราชดำริและพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ความรู้ทางวิศวกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสนับสนุนการผลิตทางการเกษตรและการแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของราษฎรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ส่งผลให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พระราชดำริและพระราชกรณียกิจทางด้านวิศวกรรมเกษตรดังกล่าว สามารถสรุปได้ดังนี้

        ด้านการพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมการข้าวซึ่งต่อมาคือกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำพันธุ์ข้าวต่างๆ มาปลูกทกลองในบริเวณพระราชวังสวนจิตลดา และโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ร.ว. เทพฤทธ์ เทวกุล นำรถแทรกเตอร์แบบ ๔ ล้อ ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลขนาด ๘.๕ แรงม้า ซึ่งเรียกว่า “ควายเหล็ก” มาไถดินเพื่อเตรียมแปลงนา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทดลองขับรถไถนาความเหล็กเพื่อเตรียมแปลงปลูกข้าวด้วยพระองค์เอง และได้พระราชทานข้อเสนอแนะนำการปรับปรุงควายเหล็กให้ได้รูปแบบที่ดี และเหมาะกับการใช้งานและการผลิตในประเทศไทย ด้วยพระราชดำริอันละเอียดรอบคอบที่ทรงเล็งเห็นความจำเป็นของเกษตรกรที่จะต้องใช้เครื่องจักรกลเกษตร ตั้งแต่เมื่อ ๔๖ ปีก่อน ทำให้ปัจจุบันประเทศไทย สามารถผลิตเครื่องจักรกลเกษตรประเภทต่างๆใช้เองในประเทศ ทั้งยังส่งออกไปยังประเทศที่ใกล้เคียงได้อีกด้วย

        ด้านวิศวกรรมการแปรสภาพผลผลิตเกษตรและอาหาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยฐานะความเป็นอยู่ของชาวนา ทรงตระหนักถึงปัญหาที่ชาวนาขายข้าวเปลือกได้ในราคาถูก แต่ต้องซื้อข้าวสารและเครื่องอุปโภคบริโภคในราคาแพง จึงพระราชทานพระราชดำริให้ชาวนารวมกลุ่มกันแบบสหกรณ์ ทำการสีข้าวเปลือกเอง แทนการนำข้าวเปลือกไปจ้างบุคคลอื่นสีหรือขายข้าวเปลือกในราคาถูก และทรงสร้างโรงสีข้าวตัวอย่างในสวนจิตลดา วิจัยเกี่ยวกับการสีข้าวและการเก็บรักษาข้าวเปลือกในยุ้งฉางแบบต่างๆเพื่อหาวิธีที่มีการสูญเสียน้อยที่สุด โรงสีข้าวตัวอย่างเป็นต้นแบบของโรงสีข้าวของกลุ่มสหกรณ์การเกษตรต่างๆ ทั่วประเทศส่งผลให้ชาวนาได้รับประโยชน์จากข้าวเปลือกที่ตนเองผลิตได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

        นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของผู้เลี้ยงโคนม ที่ไม่สามารถจำหน่ายนมสดที่ผลิตได้ อันเนื่องมาจากภาวะนมสดล้นตลาดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการสร้างโรงนมสวนดุสิตขึ้นภายในพระราชวังสวนจิตรลดา เพื่อผลิตนมผงจากนมสดที่ได้รับซื้อจากสมาชิกผู้เลี้ยงโคนม เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าวได้ส่วนหนึ่ง และต่อมาได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นนมอัดเม็ด และผลิตภัณฑ์นมชนิดอื่นๆ อีกหลายประเภท

        ด้านวิศวกรรมพลังงานเพื่อการเกษตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตระหนักถึงสภาพปัญหาการขาดแคลนพลังงานในอนาคต และทรงสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการคิดค้นหาวิธีการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในประเทศไทยมาโดยตลอด โดยได้มีพระราชดำริให้การศึกษาทดลองการนำพลังงานจากลม น้ำและแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์ และได้พระราชทานแนวทางการศึกษาทดลองการแปรสภาพผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นพลังงานแทนน้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ การผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่ง จากแกลบ มีพระราชดำริให้ศึกษาต้นทุนการผลิตแอลกอฮอล์จากอ้อย เพื่อนำมาผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงก๊าซโซฮอลและดีโซฮอล นอกจากนั้นยังทรงสนับสนุนการศึกษาวิจัยการสกัดน้ำมันปาล์มดิบ และการนำน้ำมันปาล์มมาใช้แทนน้ำมันดีเซล ผลการศึกษาวิจัยตามแนวพระราชดำริสรุปได้ว่า น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์สามารถนำมาใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลในเครื่องจักรกลเกษตรได้ดี และโปรดเกล้าฯ ให้จดสิทธิบัตรผลงานวิจัยดังกล่าวไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อรักษาผลงานนี้ไว้ให้เป็นสมบัติของคนไทยสืบไป

        ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระปรีชาสามารถด้านวิศวกรรมเกษตรอย่างท่องแท้ และได้ทรงนำความรู้นี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างอเนกอนันต์กับเกษตรกรและพสกนิกรไทยโดยรวม อีกทั้งทรงเป็นแบบอย่างแก่นักวิชาการและนักวิจัยในวงวิชาการวิศวกรรมเกษตรได้ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ส่งผลให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในการคิดค้นและวิจัยในสายงานวิศวกรรมเกษตรอย่างต่อเนื่อง สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการประชุม ครั้งที่ ๒/๒๕๕๐ เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ ขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิศวกรรมเกษตรเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติคุณให้เป็นประจักษ์ในวงวิชาการวิศวกรรมเกษตรโดยทั่วกัน และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สืบไป

line