ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม) – ตามรอยพระยุคลบาท สรรพศิลปศาสตราธิราช

ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม)

p-2550-1-q

ebook-2550-1

คำประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
พ.ศ. ๒๕๕๐ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิดลาธิเบศรามาธิบดี จักกรีนฤบดินทร์ สยามินทราราช บรมนาถบพิตร ทรงพระปรีชาสามารถในสรรพศาสตร์สาขาวิชาต่าง ๆ อย่างกว้างขวางและลุ่มลึก วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในศาสตร์ดังกล่าวที่ทรงรอบรู้อย่างแตกฉาน ทั้งได้ทรงนำมาประยุกต์ใช้บำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ ทรงนำหลักการนิเวศพัฒนามาควบคุมการผลิตเพื่อการพัฒนาประเทศ ก่อให้เกิดผลดีต่อสภาพชีวิตของพสกนิกรไทยทั้งมวล อีกทั้งทรงพระราชวิริยะศึกษาคิดค้น พระราชทานแนวพระราชดำริปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยทรงตระหนักถึงดุลยภาพการพัฒนาทุกด้านของประเทศให้ดำเนินไปอย่างเหมาะสมมั่นคง มุ่งการพัฒนาที่มิได้บังเกิดผลกระทบต่อด้านใดด้านหนึ่ง จนสูญเสียศักยภาพการพัฒนาทั้งมวล ดังจะเห็นได้จากผลการพัฒนาที่เกิดจากโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ ที่สะท้อนคุณค่าความสมดุลของทุนทางสังคมไทย เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาท เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๑  ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สะท้อนให้เห็นว่าทรงให้ความสำคัญการควบคุมการผลิตด้วยหลักการนิเวศพัฒนาว่า

          “การเกษตรนั้นถือได้ว่าเป็นทั้งรากฐานและชีวิตสำหรับประเทศของเรา เพราะคนไทยส่วนใหญ่เป็นผู้มีอาชีพเกษตรกรรม จึงมีความเห็นเสมอมาว่า วิธีการพัฒนาที่เหมาะสมแก่ประเทศเราอย่างยิ่งก็คือ จะต้องทำนุบำรุงเกษตรกรรมทุกสาขาให้พัฒนาก้าวหน้า เพื่อยกระดับฐานความเป็นอยู่ของเกษตรกรทุกระดับให้สูงขึ้น เริ่มต้นตั้งแต่การลงมือผลิต โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด ด้วยการดัดแปลงปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่โดยธรรมชาติมาใช้ให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรของเราได้ผลผลิตเพียงพอต่อการเลี้ยงตัว คือพอมีพอกินเป็นเบื้องต้นก่อน ต่อไปเมื่อเหลือจึงจำหน่ายหารายได้ ซึ่งหากจะให้ได้ผลที่สมบูรณ์ ก็จะต้องมีการจัดการเรื่องการตลาดอย่างดี รวมทั้งมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ อันจะทำให้ผลิตผลทางเกษตรมีมูลค่าสูงขึ้น โดยนัยนี้เกษตรกรของเราก็จะมีฐานะความเป็นอยู่ที่มั่นคง พึ่งตนเองได้ อันจะส่งผลให้ฐานะทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมีความเข้มแข็งตามไปด้วย”

          ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในเขตพื้นที่ถิ่นทุรกันดารเป็นเนื่องนิตย์ จึงเป็นเหตุให้ทรงทราบถึงความทุกข์และสุข ปัญหาและอุปสรรคการทำมาหาเลี้ยงชีพของราษฎรเป็นอย่างดี ได้พระราชทานโครงการพัฒนาต่าง ๆ อย่างมากมาย ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกัน กล่าวคือ โครงการตามพระราชประสงค์ โครงการหลวง โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้น ทั้งนี้ ก็เพื่อปลดเปลื้องความทุกข์ยากให้แก่ราษฎรของพระองค์เป็นสำคัญ โครงการดังกล่าวมุ่งการพัฒนาสังคมไทย เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม ด้วยทรงนำหลักการนิเวศพัฒนามาควบคุมตลอดกระบวนการ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศทุกด้านอย่างมีดุลยภาพ

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำหลักการนิเวศพัฒนามากำกับการพัฒนาสังคม จนประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม โครงการพัฒนาตามแนวพระราชดำริจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๒-๒๕๔๕  มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรในพื้นที่สูง การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้และธรรมชาติให้มีความสมบูรณ์ตลอดไป และเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศจากการรุกรานภายนอกประเทศ ผลการพัฒนาก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี ชาวบ้านมีอาชีพและรายได้ที่แน่นอน มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การทำลายป่าลดลง อีกทั้งยังมีส่วนช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมากอีกด้วย พระราชกรณียกิจในการพัฒนาดังกล่าวนี้ เป็นที่ยอมรับขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พร้อมทั้งได้ตระหนักถึงพระราชวิริยะอุตสาหะ และพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อการพัฒนาการเกษตร และสร้างความมั่นคั่งด้านอาหารแก่ประชาชนชาวไทยและชาวโลก จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญเทเลฟูต (TELEFOOD MEDAL) เพื่อประกาศพระเกียรติคุณและเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒  นอกจากนี้องค์การสหประชาชาติ ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย “รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์” (The UNDP Human Development Lifetime Achievement Award) ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙  เพื่อเฉลิมพระเกียรติที่มีพระมหากรุณาธิคุณในด้านดังกล่าว

          โครงการส่วนพระองค์ ที่โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นภายในบริเวณสวนจิตรลดา ล้วนมุ่งเน้นแก้ปัญหาความยากจนของราษฎร ด้วยการนำหลักการนิเวศพัฒนามากำกับการพัฒนาเศรษฐกิจแทบทั้งสิ้น โดยดำเนินการทั้งแบบไม่ใช่ธุรกิจและแบบกึ่งธุรกิจ แบบไม่ใช่ธุรกิจมุ่งเพื่อให้เกษตรกรมีความสามารถช่วยตัวเอง สนับสนุนให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากรายได้ทางเกษตรกรรม และยังสนับสนุนการอนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย แบบกึ่งธุรกิจมุ่งเพื่อส่งเสริมราษฎรได้บริโภคสินค้าที่มีคุณภาพ ราคาไม่แพง ไม่หวังผลกำไร ผลิตได้ในประเทศ โครงการทั้งสองแบบ ทรงมุ่งเน้นนำทรัพยากรธรรมชาติและปัจจัยทางเกษตรมาใช้ประโยชน์อย่างประหยัดและรู้คุณค่า เน้นย้ำการใช้เทคโนโลยีอย่างง่ายไม่ซับซ้อน โดยให้เกิดประโยชน์สูงสุดเช่นกัน

          การเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในถิ่นทุรกันดารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ทรงทราบปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรน้ำ ปัญหานี้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่สู่การขาดแคลนทรัพยากรอื่น ๆ ด้วย โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลากหลายโครงการ จึงมุ่งเพื่อการพัฒนาทรัพยากรทั้งจากธรรมชาติและมนุษย์อย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทรงมุ่งคิดค้น ทดลองและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างง่าย ไม่ซับซ้อน มุ่งธรรมชาติช่วยธรรมชาติและราษฎรสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ และนำมาใช้เพื่อการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ตลอดจนทรงรับเป็นพระราชภาระในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม อันเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งในและนอกเขตกรุงเทพมหานคร จากพระราชภาระดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมด้านทรัพยากร เทคโนโลยีและมลพิษสำหรับด้านมิติมนุษย์นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นอัครศิลปินที่ทรงเชี่ยวชาญหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นช่างไม้ ช่างโลหะ จิตรกร ปฏิมากร นักดนตรี และนักประพันธ์เพลง นักถ่ายภาพ งานเขียนและแปลหนังสือ ทั้งทรงเป็นนักวิทยุสื่อสารและนักการศึกษา จากพระคุณสมบัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจการพัฒนาสิ่งแวดล้อมครบสมบูรณ์ทุกมิติอย่างไม่บกพร่อง

          ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจทางด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมด้วยพระปรีชาสามารถอย่างก่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเป็นคุณูปการยิ่งแก่พสกนิกรและประเทศชาติ รวมทั้งมวลมนุษยชาติ สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการประชุม ครั้งที่ ๒/๒๕๕๐ เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณให้เป็นที่ประจักษ์ในวงวิชาการวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมโดยทั่วกัน และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สืบไป

line