ปริญญาบริหารธุรกิจดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (บริหารธุรกิจ) – ตามรอยพระยุคลบาท สรรพศิลปศาสตราธิราช

ปริญญาบริหารธุรกิจดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (บริหารธุรกิจ)

p-2542-3

ebook-42

btn2542-3
คำประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
พ.ศ. ๒๕๔๒ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ 

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร มีพระอัจฉริยภาพเป็นเลิศในศาสตร์ต่างๆ ทรงนำศาสตร์ต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินโครงการพัฒนาประเทศ ก่อให้เกิดความอยู่เย็นเป็นสุขแก่พสกนิกรอย่างทั่วถึง ได้พระราชทานหลักวิชาการบริหารธุรกิจแขนงต่าง ๆ ในด้านการจัดการ การตลาด การเงิน และการจัดองค์กร เป็นอาทิ โดยสอดแทรกไว้อย่างเหมาะสมและทันสมัยยิ่งในทุกโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นผลให้โครงการเหล่านั้นประสบความสำเร็จด้วยดี ทั้งในเชิงกายภาพและเชิงพาณิชย์ สอดคล้องกับเจตนารมณ์ มีความยั่งยืน และสามารถขยายกิจการออกไปได้อย่างเหมาะสม

          พระอัจฉริยภาพด้านการบริหาร ปรากฏชัดในแนวทางดำเนินงานที่เป็นขั้นเป็นตอน และการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบที่ทรงถือปฏิบัติ ขั้นตอนในการดำเนินงานประกอบด้วยการศึกษาข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ปัญหา การออกแบบโครงการ การดำเนินโครงการ การถ่ายทอดวิธีปฏิบัติสู่ประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง การประสานความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหา และการติดตามประเมินผล ตามลำดับ ส่วนการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ได้ทรงใช้หลักการศึกษาวิจัยและการบริหารจัดการแบบสหวิทยาการควบคู่กับการมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ

          สำหรับการดำเนินงานอย่างเป็นขั้นตอน จะทรงศึกษาข้อมูลต่าง ๆ โดยเริ่มจากข้อมูลทุติยภูมิ แล้วนำผลการศึกษาไปประกอบการหาข้อมูลปฐมภูมิในพื้นที่เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ทันสมัยที่สุด จากนั้นจึงทรงเตรียมเอกสารโครงการโดยแสดงรายละเอียดแผนงานที่ชัดเจน แล้วอธิบายโครงการแก่ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องโดยเน้นรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติงานตามแผน เพื่อให้เกิดการประสานร่วมมือที่ดีก่อนลงมือปฏิบัติ นอกจากนี้ ทรงให้มีการติดตามการดำเนินงานอีกด้วย

          ด้านการบริหารจัดการโครงการอย่างเป็นระบบ  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงให้นักวิชาการทุกแขนง รวมทั้งประชาชนในพื้นที่โครงการ มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ เช่น ทรงให้นักวิชาการด้านเกษตรศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และบริหารธุรกิจ ร่วมกันพัฒนาระบบกิจกรรมในโครงการ ทรงศึกษาวิจัยและทดลองปฏิบัติด้วยพระองค์เอง และร่วมหารือกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้แน่พระราชหฤทัยว่าผลการศึกษามีความเหมาะสมพอที่จะเผยแพร่ได้ ทรงเน้นการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนด้วยการจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ แหล่งน้ำ การพัฒนาดิน และการรวมกลุ่มเพื่อทำธุรกิจในรูป สหกรณ์ ทรงเสริมความรู้แก่ราษฎรที่เข้าร่วมโครงการด้วยการโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน ๖ แห่ง กระจายอยู่ทั้ง ๔ ภาค ของประเทศ

          พระอัจฉริยภาพด้านธุรกิจ ได้ทรงนำแนวคิดและความรู้ด้านการตลาด การเงิน และการจัดองค์กร มาใช้ในการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาชุมชนและประเทศ ทรงรอบรู้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับการนำรูปแบบองค์กรธุรกิจ เช่น มูลนิธิ สหกรณ์ และธนาคาร มาปรับใช้ในการดำเนินโครงการ และทรงเปลี่ยนแนวคิดในการประกอบธุรกิจจากการมุ่งผลกำไรมาเป็นการเสริมสร้างการพึ่งพาตนเองและการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศ ดังจะเห็นได้จากพระบรมราโชบายและแนวพระราชดำริที่ได้พระราชทานในวาระต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง กับโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา มูลนิธิโครงการหลวง สหกรณ์การเกษตร ธนาคารข้าว และธนาคาร โค-กระบือฯ ตามพระราชดำริ เป็นต้น

          การตลาดเป็นแขนงวิชาการบริหารธุรกิจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาสามารถเป็นอย่างยิ่ง ทรงตระหนักว่าการตลาดเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดกิจกรรมหนึ่งของโครงการพัฒนาการเกษตร จึงได้พระราชทานแนวคิดเกี่ยวกับหลักการจัดการการตลาดของผลผลิตที่สอดคล้องกับลักษณะของโครงการ เช่น ส่วนที่เป็นแบบกึ่งธุรกิจของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ทรงให้ใช้วิธีการการตั้งราคาผลิตภัณฑ์ที่ย่อมเยา เพื่อจูงใจประชาชนให้หันมาบริโภคสินค้าไทยคุณภาพดี นอกจากนี้ได้ทรงแนะนำให้ใช้การเพิ่มชนิดผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายจากวัตถุดิบเดียวกัน และใช้นโยบายการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่จูงใจอีกด้วย เช่น การผลิตนมผง นมเม็ด และเนยแข็ง ออกจำหน่ายควบคู่กับนมสดในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และการใช้ชื่อ “ดอยคำ” สำหรับผลิตภัณฑ์ของโครงการหลวง เป็นต้น วิธีการดังกล่าวจะช่วยขยายการใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าของผลิตผล รวมทั้งเพิ่มทางเลือกและสร้างการยอมรับผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้บริโภค นอกจากนี้ สำหรับสหกรณ์การเกษตรมีพระราชดำริให้ดำเนินการทั้งซื้อปัจจัยการผลิต และขายผลิตผล โดยใช้วิธีซื้อขายในรูปกลุ่ม

          ด้านการเงิน ทรงเล็งเห็นความจำเป็นของเงินทุนในการประกอบธุรกิจ จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นประเดิมแก่หลายโครงการที่ขาดแคลนเงินทุน พร้อมกับทรงแนะนำวิธีที่เหมาะสมในการจัดหาและระดมเงินทุนให้พอเพียงแก่การดำเนินโครงการอีกด้วย สำหรับสหกรณ์การเกษตรนั้น ได้ทรงแนะนำให้ดำเนินธุรกรรมรับฝากเงินและบริการสินเชื่อแก่สมาชิกด้วย

          การจัดองค์กร เป็นอีกแขนงหนึ่งของวิชาการบริหารธุรกิจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระอัจฉริยภาพยิ่ง ได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้ผู้ปลูกผักและผลไม้ ณ หุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี กับผู้เลี้ยงโคนมที่หนองโพ จังหวัดราชบุรี จัดองค์กรในรูปแบบที่เหมาะกับสถานภาพของกลุ่มเสียก่อน เมื่อพัฒนาความพร้อมได้แล้วจึงจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตรในโอกาสต่อไป อนึ่ง ได้ทรงนำหลักการของธนาคารพาณิชย์มาประยุกต์ใช้กับพืชผลและปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เช่น โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งธนาคารข้าว เพื่อจัดการธุรกิจกู้ยืมข้าวให้ราษฎรที่ต้องการข้าวไปใช้บริโภคและทำพันธุ์ในยามจำเป็น รวมทั้งดูแลการรับชำระหนี้ คิดดอกเบี้ย และรักษาข้าวหมุนเวียนไว้เพื่อให้มียืมอย่างต่อเนื่อง จัดตั้งธนาคารโค-กระบือฯ เพื่อให้เกษตรกรยืมไปใช้ประโยชน์ในการเกษตรและเพิ่มปริมาณโค-กระบือ ธนาคารเหล่านี้มีผลการดำเนินงานในเชิงธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จอย่างมาก เพราะบังเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงแก่สมาชิกธนาคารข้าวที่มีข้าวไม่พอกิน สามารถบรรเทาความเดือดร้อนจากการอดอยากขาดแคลน โดยการกู้ยืมข้าวไปบริโภคโดยเสียดอกเบี้ยต่ำได้ตลอดเวลาที่มีความจำเป็น กรณีธนาคารโค-กระบือฯ ทำให้เกษตรกรที่มีฐานะยากจนมีที่ทำกินขนาดเล็ก จำเป็นต้องใช้แรงงานจากโค-กระบือ แต่ไม่มีโค-กระบือเป็นของตนเอง ได้มีโค-กระบือใช้ในการเพาะปลูกโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง อันเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนที่ตรงจุดทางหนึ่ง

          ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถอันปราดเปรื่องที่ทรงนำแนวคิดและหลักวิชาการด้านการบริหารธุรกิจที่เหมาะสมและทันสมัยมาปรับใช้ตามสภาวะของโครงการดังกล่าว เป็นผลให้โครงการพัฒนาการเกษตรอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหลายประสบความสำเร็จได้ตามความคาดหมาย และเป็นที่แน่ใจได้ว่ากิจกรรมการพัฒนาต่าง ๆ ของโครงการเหล่านี้จะยั่งยืนตลอดไป สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการประชุมครั้งที่ ๗/๒๕๔๒ เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเห็นสมควรขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติให้เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกัน และเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และวงวิชาการบริหารธุรกิจสืบไป

line